ความเป็นมา

วัณโรค (ทูเบอร์คูโลซีส) เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งที่ติดต่อกันง่ายที่สุด เพราะติดต่อกันทางการหายใจ การรักษาโรคติดเชื้อที่ถูกต้องตามหลักวิชาการคือ ต้องเพาะเชื้อให้ทราบว่าเป็นเชื้ออะไร และไวต่อยาชนิดใดบ้าง เพื่อที่จะให้ยารักษาได้ถูกต้องตามผลความไวต่อยา

ในประเทศที่เจริญแล้ว แพทย์ก็ทำการเพาะเชื้อ และตรวจหาความไวของเชื้อต่อยาให้กับผู้ป่วยวัณโรคทุกคน เพื่อจะให้การรักษาได้ถูกต้อง แต่ในประเทศที่ยากจนการวินิจฉัยอาศัยการย้อมเชื้อดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเป็นวิธีที่ราคาถูก ทำได้ทุกแห่ง และการเพาะเชื้อและทดสอบหาความไวต่อยาอาจจะไม่ต้องทำก็ได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  • ในอดีตถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีเชื้อดื้อต่อยา แต่ยาชนิดนั้นไม่ใช่ยาหลักที่สำคัญ (ไอโซไนอะซิด หรือ สเตร๊พโตมัยซิน) สูตรยามาตรฐานที่ให้ซึ่งเป็นยาหลายขนาน เมื่อใช้ร่วมกันยังสามารถกำจัดเชื้อดื้อต่อยานี้ได้

  • ในอดีตเมื่อใดย้อมพบเชื้อในสิ่งส่งตรวจ ส่วนใหญ่แล้ว (มากกว่า 95 %) เชื้อนั้นจะเป็นเชื้อวัณโรค โอกาสที่จะเป็นเชื้อมัยโคแบคทีเรียอื่นที่ไม่ใช่วัณโรคที่พบในน้ำ ดิน และสัตว์หลายประเภท เช่น ไก่ นก และปลา นั้นน้อยมาก ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่จึงรักษาถูกโรค ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เพาะเชื้อก็ตาม

  • ถ้าต้องการทราบผลความไวของเชื้อวัณโรคต่อยารวดเร็วภายใน 2-3 สัปดาห์ ต้องใช้วิธีอัตโนมัติ (Bactec) ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ถ้าทำการทดสอบแบบวิธีธรรมดาอย่างที่ทำอยู่ประจำในประเทศไทยขณะนี้ถึงแม้ราคาถูก แต่ใช้เวลานาน 3-4 เดือน จึงจะทราบผล ทำให้มีผลต่อการรักษาน้อยมาก แพทย์ไทยทั่วไปจึงไม่เห็นความสำคัญของการเพาะเชื้อ นอกจากนี้ประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการรับเพาะเชื้อตรวจหาความไวต่อยาเพียง 4 แห่ง จึงไม่สามารถรองรับการตรวจผู้ป่วยทุกรายได้

ในปัจจุบันมีปรากฎการณ์ใหม่เกิดขี้นในเมืองไทย ทำให้ต้องทบทวนใหม่ว่าจำเป็นที่ต้องเพาะเชื้อทดสอบหาความไวของเชื้อต่อยาหรือไม่ ปรากฎการณ์นี้คือ

1. ในปัจจุบันเกิดเชื้อวัณโรคดื้อต่อยาหลักที่สำคัญ (ริแฟมปิซิน) ในสูตรยาที่ใช้รักษาวัณโรค ยิ่งกว่านั้นยังเกิดเชื้อวัณโรคดื้อต่อยาหลายขนานพร้อมกัน (ไอโซไนอะซิด และ ริแฟมปิซิน) ปรากฎการณ์นี้พบบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเอดส์ร่วมด้วย ทำให้สูตรยามาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบันซึ่งให้ผู้ป่วยวัญโรคเหมือนกันหมดทุกคน ไม่สามารถรักษาให้ผู้ป่วยหายขาดได้ ระหว่างที่รักษาผู้ป่วยก็จะแพร่เชื้อนี้ให้ผู้อื่นต่อไป นอกจากนั้นเมื่อใช้สูตรยานี้กับเชื้อดื้อยาจะกระตุ้นให้เชื้อดื้อยาขึ้นอีก เช่น

  • ถ้าเดิมเชื้อดื้อยา 1 ขนาน (ริแฟมปิซิน) จะกลายเป็นเชื้อดื้อยา 2 ขนาน (ไอโซไนอะซิด และ ริแฟมปิซิน)

  • ถ้าเดิมเชื้อดื้อยา 2 ขนาน (ไอโซไนอะซิด และ ริแฟมปิซิน) จะกลายเป็นเชื้อดื้อยา 4 ขนาน (ไอโซไนอะซิด , ริแฟมปิซิน, อีแธม-
    บิวทอล และพัยราซินาไมด์)

เชื้อดื้อยา 3-4 ขนานเป็นเชื้อที่รักษาให้หายขาดได้ยากมาก ต้องใช้ยาสำรองที่มีราคาแพงมีผลข้างเคียงมาก และอาจต้องใช้การผ่าตัดร่วมด้วย และบางรายอาจเสียชีวิตได้ ปกติแล้วค่ารักษาผู้ป่วยที่มีเชื้อไวต่อยา ประมาณ 3-4 พันบาท แต่ค่ารักษาผู้ป่วยที่มีเชื้อดื้อต่อยาหลายขนานอาจสูงเกินแสนบาท การป้องกันไม่ให้แพทย์สร้างเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นจึงมาความสำคัญมาก ถ้าเชื้อดื้อยาหลายขนานเพิ่มมากขึ้น ทุกคนจะเดือดร้อนไม่มีไครปลอดภัยจากเชื้อวัณโรคดื้อยานี้

2. ในปัจจุบันเชื้อมัยโคแบคทีเรียอื่นที่ไม่ใช่เชื้อวัณโรคพบบ่อยขึ้น (อาจสูงถึง 15-20%) โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ร่วมด้วย ทำให้การรักษาผิดทาง เพราะว่าเชื้อที่ย้อมพบไม่จำเป็นที่เป็นเชื้อวัณโรค อาจเป็นมัยโคแบคทีเรียอื่นที่ไม่ใช้วัณโรคได้ แทนที่แพทย์จะให้ยารักษาเป็นมัยโคแบคทีเรียอื่นที่ไม่ใช่วัณโรค กลับให้ยารักษาวัณโรค ผู้ป่วยอาจไม่หาย เป็นการสิ้นเปลืองค่ายารักษาวัณโรค

3. เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ต่างประเทศได้ค้นพบวิธีการทดสอบความไวของเชื้อวัณโรคต่อยาที่ได้ผลดี รวดเร็ว และประหยัด คือ วิธีทดสอบความไวของเชื้อโดยตรงบนอาหารวุ้น (Direct Susceptibility Testing on Solid Media) แต่ได้เลิกปฏิบัติ เพราะวิธีนี้มีข้อจำกัดหลายอย่าง ทดสอบได้เฉพาะสิ่งส่งตรวดที่ย้อมพบเชื้อ และไม่สามารถบอกว่าเป็นเชื้อวัณโรคหรือมัยโคแบคทีเรียอื่นที่ไม่ใช่วัณโรค ต้องใช้วิธีอื่นมาประกอบถึงจะบอกได้ว่าเป็นเชื้อวัณโรคหรือมัยโคแบคทีเรียอื่นที่ไม่ใช่วัณโรค เมื่อ2 ปีที่แล้ว รศ.ดร.อังคณา ฉายประเสริฐ หัวหน้าสาขาราและมัยโครแบคทีเรียวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ ดร.มนูญ ลีเชวงวงค์ได้นำวิธีการดั้งเดิมนี้กลับมาใช้ใหม่ในเมืองไทย ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบวิธีนี้กับวิธีธรรมดาในผู้ป่วย 101 ราย ด้วยเงินสนับสนุนจากสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยปรากฎว่าได้ผลรวดเร็ว ภายใน 3-4 สัปดาห์ ผลเชื่อถือได้ และค่าทดสอบเพียง 100 บาท/ครั้ง วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย

เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายในการตรวจหาความไวของเชื้อวัณโรคต่อยาให้แก่ผู้ป่วยใหม่ทุกคนในประเทศไทย การจัดตั้ง "ทุนวิจัยวัณโรคดื้อยา" ในศิริราชมูลนิธิ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงมีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำการทดสอบความไวของเชื้อวัณโรคต่อยาที่ใช้กับผู้ป่วยทุกคนที่เสมหะย้อมพบเชื้อ จากสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง คาดว่าอาจมีถึงหกหมื่น คนต่อปี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยได้รับยาได้ถูกต้องเมื่อทราบผลความไวต่อยา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมสถานการณ์เชื้อดื้อยา ลดโอกาสที่แพทย์ให้สูตรยาไม่ถูกต้อง หรือไม่เพียงพอทำให้เชื้อดื้อยามากขึ้น และเพิ่มโอกาสที่แพทย์ให้การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคดื้อยา ให้หายขาดได้โดยใช้ยาถูกต้อง และเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคดื้อยาในประเทศไทย เหตุผลที่เลือกทำการเพาะเชื้อและตรวจหาความไวต่อยาเฉพาะผู้ป่วยที่ย้อมพบเชื้อ เพราะว่าประเทศไทยยากจน ยังไม่หลุดพ้นจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจจึงไม่สามารถทำการทดสอบผู้ป่วยวัณโรคทุกคนได้ และผู้ป่วยที่ย้อมพบเชื้อเป็นผู้ป่วยที่อันตรายสามารถแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้มากที่สุด กองทุนฯ นี้จะทำการทดสอบเฉพาะยาหลัก 2 ชนิด คือ ไอโซไนอะซิด และ ริแฟมปิซิน เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด

 

Copyright © 2010 Microbiology Department, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University. All rights reserved.